วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การเขียนรายงานผลงานทางวิชาการ : จุดมุ่งหมายของผลงานทางวิชาการ



การเขียนรายงานผลงานทางวิชาการ : จุดมุ่งหมายของผลงานทางวิชาการ

เรียบเรียงโดย ว่าที่ ร.ต. ดร.ประสิทธิ์  รัตนสุภา

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) (2552 : 6 - 53) แจ้งหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ(หนังสือสำนักงาน ก... ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552) ความว่า ก.ค.ศ.ได้กำหนดจุดมุ่งหมายของผลงานทางวิชาการที่ขอเลื่อนวิทยฐานะเป็นชำนาญการพิเศษ  ไว้สองประการหลัก คือ 1) เพื่อแก้ปัญหา.... 2) ได้องค์ความรู้เพื่อพัฒนา.... ซึ่งในส่วนเลื่อนเป็น  วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ และผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ มีรายละเอียด ดังนี้
หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเลื่อนเป็นวิทยฐานะ        ครูชำนาญการพิเศษ ด้านที่ 3 ด้านผลการปฏิบัติงาน ส่วนที่ 2 ผลงานทางวิชาการ ซึ่งเป็นรายงานการศึกษา ค้นคว้า หรือผลการวิจัยในชั้นเรียน หรือผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาด้านการเรียนของผู้เรียนและสอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนรู้ มีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนจำนวนไม่น้อยกว่า 1 รายการ ทั้งนี้ การประเมินผลงานทางวิชาการให้พิจารณาจากผลงานทางวิชาการที่ผู้ขอรับการประเมินเสนอ และอาจให้ผู้ขอรับการประเมินนำเสนอและตอบข้อซักถามด้วยก็ได้ (สำนักงาน ก.ค.ศ., 2552 : 6)
หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเลื่อนเป็นวิทยฐานะ      รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ /ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ ด้านที่ 3 ด้านผลการปฏิบัติงาน ส่วนที่ 2 ผลงานทางวิชาการ ซึ่งเป็นรายงานการศึกษา ค้นคว้า หรือผลการวิจัยหรือผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา มีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน พัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และสถานศึกษา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 รายการ ทั้งนี้ การประเมินผลงานทางวิชาการ ให้พิจารณาจากผลงานทางวิชาการที่ผู้ขอรับการประเมินเสนอ และอาจให้ผู้ขอรับ การประเมินนำเสนอและตอบข้อซักถามด้วยก็ได้ (สำนักงาน ก.ค.ศ., 2552 : 33 - 53)
จากหลักเกณฑ์ ดังกล่าว สรุปได้ว่าผลงานทางวิชาการต้องมีจุดมุ่งหมายดังนี้
 
เลื่อนวิทยฐานะเป็น
จุดมุ่งหมายของผลงานทางวิชาการ
เพื่อแก้ไขปัญหา
ได้องค์ความรู้
ครูชำนาญการพิเศษ
ด้านการเรียนของผู้เรียน
เพื่อพัฒนาผู้เรียน
รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ /ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
ด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา
1.เพื่อพัฒนาผู้เรียน
2.เพื่อพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา
3.เพื่อสถานศึกษา

ในการเขียนจุดมุ่งหมายของผลงานทางวิชาการจึงต้องเขียนให้ครอบคลุมตามที่หลักเกณฑ์กำหนดไว้ทั้งสองประการกล่าวคือ 1) เพื่อแก้ปัญหา.... 2) ได้องค์ความรู้เพื่อพัฒนา....  
ตัวอย่างที่ 1  การเขียนจุดมุ่งหมายของผลงานทางวิชาการ (ครู)
ครูขอเลื่อนวิทยฐานะ เป็นครูชำนาญการพิเศษ เสนอผลงานทางวิชาการเรื่อง การพัฒนาผลสัมฤทธิ์วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ดุลยภาพของเซลและสิ่งมีชีวิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เทคนิคแอทลาส
ในการเขียนจุดมุ่งหมายของผลงานทางวิชาการอาจเขียนไว้ในบทที่ 1 ย่อหน้าถัดจากความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา…………………………………………………………
………………………………………………………………………………………………………..
 จากปัญหาดังกล่าวผู้รายงาน/ผู้วิจัย ในฐานะครูผู้สอนจึงมีความสนใจที่จะนำ(นวัตกรรม)ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เทคนิคแอทลาส มาใช้แก้ปัญหานักเรียนไม่สนใจเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น
ตัวอย่างที่ 2  การเขียนจุดมุ่งหมายของผลงานทางวิชาการ (รองผู้อำนวยการ/ผู้อำนวยการ)
รองผู้อำนวยการ/ผู้อำนวยการเลื่อนวิทยฐานะเป็นรองผู้อำนวยการ/ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ เสนอผลงานทางวิชาการเรื่อง การบริหารโรงเรียนในฝันของโรงเรียน......โดยใช้ รูปแบบการกำหนดผลสำเร็จอย่างสมดุลรอบด้าน
ในการเขียนจุดมุ่งหมายของผลงานทางวิชาการอาจเขียนไว้ในบทที่ 1 ย่อหน้าถัดจากความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา…………………………………………………………
………………………………………………………………………………………………………..
               จากปัญหาดังกล่าวผู้รายงาน/ผู้วิจัย ในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาจึงมีความสนใจที่จะนำ(นวัตกรรม)รูปแบบการกำหนดผลสำเร็จอย่างสมดุลรอบด้าน มาใช้แก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการสถานศึกษาเพื่อ 1) พัฒนาผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น 2) พัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน...ในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และ 3) สถานศึกษาได้รับการพัฒนาเป็นโรงเรียนในฝัน
               นอกจากนี้ในหัวข้อประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ อาจนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นมาเขียนได้อีก เช่น
ตัวอย่างที่ 3 การเขียน ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (ของครู)
               องค์ความรู้เรื่อง ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เทคนิคแอทลาส จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนี้
1.         สามารถนำมาแก้ปัญหาการที่นักเรียนไม่สนใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์
2.         สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สูงขึ้น
ตัวอย่างที่ 4 การเขียน ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (ของรองผู้อำนวยการ/ผู้อำนวยการ)
องค์ความรู้เรื่อง รูปแบบการกำหนดผลสำเร็จอย่างสมดุลรอบด้าน จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนี้
               1.สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา
2. สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น
3. สามารถพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน...ในการทำงานร่วมกันอย่างเป็น
    ระบบ
4. สถานศึกษาได้รับการพัฒนาเป็นโรงเรียนในฝัน

---------------------------------------
บรรณานุกรม
สำนักงานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา. (2552). หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครู
และบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ. กรุงเทพ ฯ : ก.ค.ศ.. (อัดสำเนา).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น